บันทึกเมื่อวันที่ 08 พฤษภาคม 2550 ชม 2411 ครั้ง
บันทึกโดยคุณ lalita
เข็นความสุขขึ้นดอยด้วยโครงการ Home Clinic
ธงชัย ปรีชา
Home Clinic นี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ คณะทันตแพทย์สร้างเสริมสุขภาพ อะไรเลยเพียงแต่ว่านักศึกษาทันตแพทย์ชั้นปีที่ 4 ( เมื่อปี 2547 ) ที่เรียนในกระบวนวิชาของภาควิชาทันต กรรมชุมชน ที่ว่าด้วยเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ ได้รับมอบหมายให้ทำโครงการส่งเสริมสุขภาพอะไรก็ได้ ในกลุ่มไหนก็ได้ จึงเกิดโครงการนี้ขึ้นมาโดยนักศึกษาได้เข้าร่วมปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่ห้อง Main 4 ( เพราะนักศึกษาสนิทกับเจ้าหน้าที่ห้องนี้ ) โดยการมานั่งคุยกันว่าจะทำอะไรร่วมกันดี ( ภายใต้แนวคิดการมีส่วนร่วม ) จึงคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้มาเรียนแล้วก็มีความสุข เจ้าหน้าที่มาทำงานก็มีความสุข และผู้ป่วยที่มารับบริการก็มีความสุข ก็ตกลงกันว่าจะน่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำงานในคลินิกที่มีแต่ความสุข ไม่เครียด จึงได้ร่วมกันว่าจะทำ โครงการ Home Clinic ซึ่งในขณะนั้นก็ดำเนินงานต่างๆโดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากหลายๆ หน่วยเช่น งานช่าง งานอาคาร งานโสตฯ มาร่วมด้วยช่วยกัน เช่นงานช่างก็มาซ่อมแซมสิ่งของต่างๆ งานอาคารก็ช่วยจัดสถานที่หาต้นไม้ต่างๆ มาเสริม งานโสตฯก็แก้ไขเครื่องเสียงเป็นต้น ส่วนนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ก็ร่วมกันทำสิ่งต่างๆ เช่น หาเพลง หาหนังสือพิมพ์ หานิตยสาร จัดบอร์ด และตกแต่งUnit ที่ตนเองรับผิดชอบให้น่าสนใจ โดยอาศัยงบประมาณบางส่วนจากคณะและบางส่วนก็ขอบริจาคร่วมด้วยช่วยกัน เช่น หนังสือ นิตยสาร ฯลฯ
ความรู้สึกตอนนั้นคิดว่า การทำงานแบบนี้ทำไมจึงยากเย็นแสนเข็ญเหลือนี่กระไร ไหนต้องให้ทุกคนมีใจที่ต้องร่วมด้วยช่วยกัน มองเห็นและมีความสุขด้วยกัน ตลอดจนการสร้างแนวคิดเรื่องการส่งเสริมสุขภาพที่ว่าด้วยการมีส่วนร่วม ( เป็นเรื่องยากมากๆ เพราะคนไม่ค่อยเคยชิน ) แต่เมื่อทำงานสำเร็จ ( บางอย่างเท่านั้น ) ทุกคนก็ภูมิใจและมีความสุขที่ได้เห็นผลงานถึงจะเป็นจุดเล็กๆ ก็ตาม ซึ่งถือว่าเป็นการกระตุ้นให้คลินิกอื่นๆเห็นเป็นตัวอย่าง จึงได้มีการดำเนินงาน Home Clinic ในคลินิกรวม 4 ต่อมาเรื่อยๆ แต่เป็นไปในลักษณะของการทำให้ทุกอย่างคงสภาพอยู่แต่ยังไม่มีอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา พอมีโครงการโรงเรียนทันตแพทย์สร้างเสริมสุข เจ้าหน้าที่ห้อง Main 4 ก็เริ่มมองเห็นช่องทางที่จะดำเนินงานอื่นๆ ต่อ เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่ยั่งยืนจึงมาปรึกษาหารือกันใหม่อีกครั้ง แต่ในครั้งนี้เป็นการหารือเบื้องต้นระหว่างเจ้าหน้าที่ ( ห้อง Main 4 ) และอาจารย์ก่อนว่าจะทำอย่างไร เพื่อที่จะเป็นแนวทางในการของงบประมาณจาก สสส. ( โดยใช้ข้อมูลจากงานเก่ามาประมวลด้วย ) เมื่อได้ข้อเบื้องต้นแล้วจึงจัดทำโครงการเพื่องบประมาณจาก สสส. ภายใต้การให้การสนับสนุนและเห็นชอบจาก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่านก่อน ( อ.ทพ. ธีระพล ) ที่ให้การสนับสนุน แต่กว่าจะได้โครงการเพื่อของบจาก สสส. นี้ ยากเย็นแสนเข็ญเหมือนกันเพราะการเขียนโครงการนั้นต้องมีควาทเข้าใจในเรื่องของการมีส่วนร่วม การส่งเสริมสุขภาพพอสมควรจึงจะสามารถที่จะเขียนโครงการได้ตรงแนวคิดได้ เมื่อทาง สสส.อนุมัติมาให้กับคณะ ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ 4 คลินิกนั้นเมื่อ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่านปัจจุบัน ( ผศ.สุกิจ ) ท่านเห็นชอบและสนับสนุนอย่างเต็มที่โดยท่านรับเป็นประธานโครงการในการดำเนินงานและอำนวยความสะดวกต่างๆทั้งเรื่องเวลาการประชุมงบประมาณเพิ่ม เติมหรือแนวทางการดำเนินงานอื่นๆ ตลอดจนนำเรื่องเข้าแจ้งให้ผู้บริหารของคณะและบอร์ดของโรงพยาบาลได้ทราบ ผลที่ประชุมออกมามีคลินิกต่างๆ สนใจที่เข้าร่วมโครงการเป็น 8 คลินิก จึงได้มีการระดมสมองหลายครั้ง และได้แผนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมขึ้นมาอย่างชัดเจน แต่การทำงานนั้นก็ยากพอสมควร ทั้งนี้ก็เพราะว่าการทำความเข้าใจเรื่องงานส่งเสริมสุขภาพกับอาจารย์หลายท่านนั้น ที่ท่านยังไม่ทราบแนวคิดการส่งเสริมสุขภาพแนวใหม่นั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก มากกว่าเข็ญครกขึ้นภูเขา ( ภูเขาที่สูงด้วย ) เพราะอาจารย์ก็จะมีแนวคิดการทำงานแบบตามของอาจารย์ กว่าจะสร้างแนวคิดไปด้วยกันได้ก็เหนื่อยพอสมควร ( ก็ยังไม่ถึง 50 % ) แต่ก็ยอมรับด้วยกันว่า การดำเนินงานแบบนี้น่าจะมีผลของการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นในเรื่องของโครงการที่ออกมาในแนวส่งเสริมสุขภาพแบบมีส่วนร่วมกันได้และตอนนี้ดำเนิน การตามโครงการอยู่
ก็หวังได้ว่า Home Clinic นี้น่าจะสร้างความสุขให้แก่ ผู้มารับบริการ เจ้าหน้าที่ นักศึกษาและอาจารย์ ตลอดจนสร้างแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมต่อไปในคณะฯ และหวังได้ว่าจะขยายแนวคิดต่อไปเรื่อยๆแม้ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ก็ตาม ( ความหวังของคนตัวเล็กๆ น้อยๆที่อยากให้เกิดบรรยายกาศแห่งความสุข เล็กๆ )
|