บันทึกเมื่อวันที่ 08 พฤษภาคม 2550 ชม 3670 ครั้ง
บันทึกโดยคุณ ดนตรีพื้นเมือง
แว่วเสียงสะล้อ ซอ ซึง จากชาวชมรมดนตรีพื้นบ้านล้านนา
เริ่มต้นศักราชใหม่ ปี 2549 ก็ได้ยินเสียงประกาศตามสายภายในคณะฯ แจ้งให้ทราบว่า ขณะนี้กำลังเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกของชมรมดนตรีพื้นบ้าน (วง สะล้อ ซอ ซึง) เพื่ออนุรักษ์สืบทอดดนตรีพื้นบ้านของชาวเชียงใหม่ หมู่เฮาทั้งหลายที่มีความสนใจด้านดนตรีพื้นบ้านเป็นทุนเดิมก็ต่างจับกลุ่มพูดคุยกันว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดีของหมู่เฮาว่า จะได้มีโอกาสเรียนดนตรีพื้นบ้าน โดยใช้เวลาว่างช่วงพักเที่ยงให้เป็นประโยชน์(โอกาสแบบนี้จะหาไม่ได้อีกแล้ว) และแล้วความฝันของหมู่เฮาก็เป็นจริงขึ้นมา เมื่อได้ทราบข่าวอีกครั้งว่า ทาง สสส. ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณบางส่วนให้แก่ทางชมรมฯ เพื่อใช้ในการฝึกฝนการเรียนดนตรีในครั้งนี้
หลังจากหมู่เฮาทั้งหลายร่วมยี่สิบกว่าชีวิต มีทั้งอาจารย์ เจ้าหน้าที่ทุกระดับชั้นและนักศึกษาบางส่วนได้รวมตัวกันมานั่งเรียนและฝึกซ้อมดนตรีด้วยกันอย่างเป็นกันเองตามที่ตนเองสนใจ บ้างก็สนใจเครื่องสายก็มีซึงและสะล้อให้เลือก บ้างก็สนใจเครื่องเป่าและตี ก็มีขลุ่ย ฉิ่ง ฉาบและกลอง ให้เรียนตามใจชอบ นับจากวันนั้นตั้งแต่ต้นปีใหม่มาถึงปัจจุบัน(สิงหาคม)พวกเราก็ได้เรียนรู้และมีความสามารถเล่นเครื่องดนตรีพื้นบ้านได้พอประมาณ ระหว่างเรียนและฝึกซ้อม พวกเราก็รับเชิญให้ไปบรรเลงเพลงในงานต่าง ๆ ทั้งในส่วนของคณะฯ และนอกสถานที่ อาทิ วันสถาปนาคณะฯ งานวันรดน้ำดำหัวผู้อาวุโสของคณะฯ(ปี๋ใหม่เมือง) งานวันอาสาฬหบูชา ณ ข่วงประตูท่าแพ งานวันวิสาขบูชา ณ พุทธสถานจังหวัดเชียงใหม่ งานพิธีหล่อเทียนพรรษาของคณะฯ กิจกรรมวันแม่แห่งชาติ ของ อบต.สุเทพ และงานสืบสานตำนานไทลื้อ ของอำเภอดอยสะเก็ด ตลอดจนงานศพก็ไปบรรเลงมาแล้วเป็นต้น ซึ่งการที่ได้ร่วมกิจกรรมในงานต่าง ๆ ที่ผ่านมานั้นทำให้หมู่เฮาทั้งหลายได้เรียนรู้และได้รับประสบการณ์ตรง มีความเชื่อมั่นในทักษะด้านดนตรีที่ได้ร่ำเรียนและฝึกฝนมาอย่างมั่นใจและกล้าที่จะแสดงออก มีสมาธิในการแสดงออกต่อหน้าสาธารณชนอย่างมีความมั่นใจ สิ่งที่ได้จากการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงนั้นทำให้หมู่เฮาทั้งหลายเกิดความเชื่อมั่นตนเองสูงขึ้น ทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ ความสามัคคีในกลุ่มได้เป็นอย่างดี มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตลอดในทุก ๆ ด้าน ไม่เฉพาะด้านดนตรีเท่านั้นรวมไปถึงงานส่วนตัวตลอดจนงานในหน้าที่อีกด้วย สิ่งที่เห็นเด่นชัดในการรวมพลเล่นในระหว่างซ้อมดนตรีนั้น สนุก ร่าเริง มันในอารมณ์และก็เพลิดเพลินไปกับทำนองเพลงที่เล่น และผลพวงที่ได้รับจากการที่รวมกันตั้งชมรมขึ้นมาจะเห็นได้ว่าทางชมรมได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภายในคณะฯเอง ตลอดจนหน่วยงานข้างนอกบ้างพอสมควร จะเห็นได้จากเวลาหน่วยงานจัดกิจกรรมขึ้นมักจะเชิญทางชมรมเข้าร่วมการแสดงอยู่เสมอ ทำให้เป็นการนำเสนอผลงานของชมรมไปในตัว ทำให้สมาชิกของชมรมเป็นที่รู้จักในหน่วยงานของตนเองมากยิ่งขึ้น และเป็นการเผยแพร่องค์กร(คณะทันตแพทยศาสตร์) ให้บุคคลภายนอกได้รู้จักมากยิ่งขึ้นอีกด้วย และหมู่เฮาทั้งหลายก็จะอนุรักษ์สืบสานดนตรีนี้ไว้คู่กับคณะทันตแพทยศาสตร์เชียงใหม่ตลอดไป
|