โครงการช่วยเลิกบุหรี่
คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
หน้าหลัก              เกี่ยวกับเรา              แนวทางการช่วยเหลือผู้สูบบุหรี่             บุหรี่กับโรคในช่องปาก              เคล็ดลับการเลิกบุหรี่              ติดต่อเรา


โครงการช่วยเลิกบุหรี่
แนวทางการช่วยเหลือผู้สูบบุหรี่

แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับการบำบัดรักษาโรคติดบุหรี่ในประเทศไทย

ได้ริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2552 ตามแนวคิดของหลายๆฝ่ายในประเทศไทยและตามนโยบายขององค์การอนามัยโลกที่ต้องการให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศ มีนโยบายและแนวทางในการเลิกบุหรี่ของตนอย่างชัดเจน การจัดทำแนวทางเวชปฏิบัติฯนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อมุ่งหวังให้บุคลากร วิชาชีพสุขภาพในประเทศไทยได้มีแนวทางในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่สูบบุหรี่หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่าเป็น “โรคติดบุหรี่” ให้สามารถเลิกบุหรี่สำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องเช่นเดียวกันในสถานพยาบาลทุกระดับ ทั้งนี้ ทุกฝ่ายคงไม่สามารถปฏิเสธความเป็นจริงอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อัตราการสูบบุหรี่ของ คนไทยนั้นลดลงด้วยอัตราที่เชื่องช้ากว่าที่เคยเป็นมาอย่างเห็นได้ชัด เหตุผลหนึ่งก็น่าจะเป็นจากการที่ระบบการให้บริการเลิกบุหรี่ ของประเทศไทยยังคงอ่อนแอและไม่เป็นระบบ ขาดการสนับสนุนที่แท้จริงจากภาครัฐ อีกทั้ง ประชาชนก็ไม่สามารถเข้าถึงการ ให้บริการช่วยเลิกบุหรี่และยาช่วยเลิกบุหรี่ได้อย่างที่ควรจะเป็น สิ่งเหล่านี้ล้วนตรงกันกับที่ได้รับจากผลการประเมินสมรรถนะ การควบคุมยาสูบของประเทศไทยโดยองค์การอนามัยโลกเมื่อปี พ.ศ.2551

แนวทางการให้คำแนะนำผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ ในคลินิกทันตกรรม
พบว่ามากกว่า 70% ของผู้ที่สูบบุหรี่ มีความต้องการจะเลิกสูบบุหรี่ แต่ส่วนใหญ่มากกว่า 90% จะไม่สามารถเลิกได้ เนื่องจากไม่ทราบวิธีการเลิกที่เหมาะสม และมีความคิดว่า ไม่สามารถเลิกสูบได้เอง จากการศึกษาในประเทศไทย พบว่า คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ เป็นแรงจูงใจที่สำคัญ ที่ทำให้ผู้สูบสามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ ทันตแพทย์จะมีโอกาสให้การรักษา กับผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่สูบบุหรี่ และจะมีบทบาทที่สำคัญ ในการช่วยแนะนำผู้สูบบุหรี่ ที่รับการรักษาที่คลินิกทันตกรรม ให้เลิกสูบบุหรี่ได้ การให้คำแนะนำที่เหมาะสม แม้จะใช้เวลาเพียงสั้นๆ (ประมาณ 3-5 นาที) ก็จะสามารถเพิ่มโอกาสสำเร็จของการเลิกบุหรี่ได้มากขึ้น ดังนั้น ในคลินิกทันตกรรม จึงควรมีแนวคิดที่ชัดเจนในการช่วยเลิกบุหรี่กับผู้ป่วย โดยขั้นตอนหลักประกอบด้วย "5 A"

แนวทาง 5A ในการช่วยผู้สูบบุหรี่ทางคลินิก
Ask ควรมีการถามประวัติการสูบบุหรี่ทุกๆ ครั้ง ที่มารับการตรวจ
Assessment ควรมีการประเมินความต้องการเลิกสูบบุหรี่ของผู้สูบ
Advise แนะนำให้ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ เริ่มขั้นตอนการเลิกบุหรี่ ในผู้ที่ยังไม่มต้องการเลิก ต้องพยายามจูงใจ ให้มีความคิดต้องการเลิกบุหรี่
Assist ให้คำแนะนำและความช่วยเหลือ ที่เหมาะสม ในการช่วยให้การเลิกสูบบุหรี่ มีโอกาสสำเร็จมากขึ้น
Arrangement มีการนัดผู้ป่วยกลับมาติดตามผลการรักษา

แนวทางการให้คำแนะนำ
การให้คำแนะนำในการเตรียมตัวให้พร้อม กับการหยุดบุหรี่
1. กำหนดวันที่หยุดบุหรี่แน่นอน (quit date) โดยควรจะกำหนดภายในเวลาไม่เกิน 1 เดือน หลังจากที่ผู้ป่วยมีความต้องการเลิกสูบ
2. ให้ผู้ป่วยหาการสนับสนุน จากสมาชิกครอบครัว และเพื่อน
3. ให้ผู้สูบเตรียมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น เช่น ความอยากบุหรี่ อาการหงุดหงิด โดยการเตรียมกิจกรรม หรือแนวทางการแก้ปัญหาไว้ก่อน
4. กำจัดบุหรี่ และสิ่งที่เกี่ยวข้อง เช่น ที่เขี่ยบุหรี่ ออกจากสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะถึง quit date
การปฏิบัติตัวในช่วงที่เลิกบุหรี่
1. เน้นให้ผู้สูบเข้าใจว่า การเลิกอย่างเด็ดขาด มีความสำคัญมาก การสูบบุหรี่แม้แต่เพียง 1 มวน จะเป็นจุดเริ่มของการสูบใหม่ ดังนั้น ต้องมีความเข้มแข็งตลอดเวลาที่เริ่มเลิกบุหรี่
2. ถ้ามีประสบการณ์จากการล้มเหลว ในการพยายามเลิกมาก่อน ให้นำมาใช้ในการเตรียมตัวในครั้งนี้
3. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ที่ทำให้ผู้สูบนึกถึงการสูบบุหรี่ เช่น การเข้าห้องน้ำ การดื่มกาแฟ หรือความเครียด การพยายามมองหาสิ่งกระตุ้น และหาทางหลีกเลี่ยง หรือแก้ไขเสียแต่เนิ่นๆ เช่น งดกาแฟ หาหนังสืออ่าน ขณะเข้าห้องน้ำ จะสามารถลดโอกาสการกลับมาสูบใหม่ได้
4. เตรียมเทคนิคที่จะสามารถลดความรู้สึกอยากบุหรี่ได้ เช่น การออกกำลังกาย การอาบน้ำ หรือหากิจกรรมสันทนาการอื่นๆ ทำ อย่าให้มีเวลาว่างมาก ในช่วงที่เริ่มเลิกบุหรี่
5. งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
6. ถ้ามีบุคคลอื่นที่สูบบุหรี่ในบ้าน ควรจะแนะนำให้เลิกพร้อมกัน เนื่องจากถ้ายังมีบุคคลอื่นที่สูบบุหรี่อยู่ จะทำให้ผู้ที่พยายามเลิก มีโอกาสประสบความสำเร็จลดลง
การใช้ยาเพื่อช่วยในการเลิกบุหรี่
ปัจจุบัน มียาหลายชนิดที่มีใช้ในผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ และสามารถเพิ่มโอกาสสำเร็จให้มากขึ้น โดยแบ่งออกเป็น ยาที่มีนิโคติน (nicotin supplement) และยาที่ไม่มีนิโคติน (ที่มีใช้อยู่ คือ bupropion SR) การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ และควรแนะนำให้ผู้สูบบุหรี่ ลองพยายามเลิก โดยไม่ใช้ยาก่อนเสมอ ต้องอธิบายให้ผู้สูบเข้าใจว่า สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาเสริมทุกราย มีผู้สูบบุหรี่บางกลุ่ม ซึ่งไม่ควรใช้ยาเลิกบุหรี่ แต่ในผู้สูบบางราย ที่ไม่สามาระเลิกได้ด้วยตนเอง หรือมีการติดนิโคตินสูง อาจแนะนำให้พบแพทย์ เพื่อรับยาช่วยในการเลิกบุหรี่ได้

หยุดการสูบบุหรี่ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น



โครงการช่วยเลิกบุหรี่
คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
โทรศัพท์. 053–944463
www.dent.cmu.ac.th